วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติลูกเสือไทย


การจัดตั้งกองเสือป่าและกองลูกเสือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทย เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อปีพ.ศ. 2453 นั้น ประเทศสยามตกอยู่ในภาวะที่วิกฤตตอนหนึ่ง เพราะก่อนที่จะขึ้นครองราชสมบัตินั้น พระองค์ทรงจำเป็นต้องเสด็จออกไปรับการศึกษาในกลุ่มของประเทศภาคพื้นยุโรป ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นสมัยที่นิยมของการล่าเมืองขึ้นกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภาคพื้นบูรพาอาคเนย์นั้นมีประเทศต่าง ๆ อันได้แก่ อินเดีย พม่า ลาว มาเลเซีย กัมพูชา เวียตนาม กำลังเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจทั้งนั้น ด้วยพระปรีชาญาณของอดีตพระมหากษัตราธิราชของไทย เราได้ทรงเล็งเห็นอันตรายอันใหญ่หลวงจึงทรงออมชอม ยอมสละแผ่นดินให้แก่ชาติมหาอำนาจตามภาวะความจำเป็นหลายครั้งหลายหนโดยเสียแผ่นดินไป 1,206,377 ตารางกิโลเมตร คงเหลืออยู่ 514,000 ตารางกิโลเมตร คือเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงพระเยาว์อยู่ได้ทรงทราบวิเทโศบายในทำนองนี้ดี จึงได้สู้ทนเสด็จออกไปศึกษาอยู่ในยุโรปถึง 9 ปี เมื่อเสด็จกลับมาแล้วก็ได้ทรงตระเตรียมแผนการณ์ต่าง ๆ อย่างเงียบ ๆ ตลอดมา ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ซึ่งทรงรู้ซึ้งถึง ที่จะนำประเทศไทยให้พ้นมหันตภัยทางการเมืองให้ลุล่วงไป พระองค์ทรงวางแผนตั้งกองเสือป่าและลูกเสือขึ้น
จุดมุ่งหมายในการก่อตั้ง
ไม่ว่าจะทำกิจการอะไรเป็นการใหญ่ ย่อมมีความจำเป็นที่จะชี้แจงจุดมุ่งหมายให้คนทั้งหลายทราบ การจัดตั้งกองเสือป่าและลูกเสือก็เป็นเช่นเดียวกัน การตั้งกองเสือป่านั้นมีประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2454 แต่พอวันที่ 1 กรกฎาคมปีเดียวกันก็ประกาศตั้งกองลูกเสือตามหลังมาอีก แสดงว่ากองลูกเสือตั้งภายหลังกองเสือป่าเป็นเวลาห่างกันชั่ว 2 เดือนเท่านั้นในการเริ่มจัดตั้งกองเสือป่า นั้น มีประกาศเป็นพระราชปรารภซึ่งลงไว้ในบันทึกจดหมายเหตุเสือป่าว่า เนื่องมาจากในเวลานั้นมีพลเรือนบางคนทั้งที่เป็นข้าราชการและที่เป็นพ่อค้าคหบดีมีความปรารถนาที่จะได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างทหาร แต่ก็ยังมิได้มีโอกาสฝึกหัด เพราะบางคนติดหน้าที่ราชการทางพลเรือนเสียบ้าง บางคนที่เป็นพ่อค้าคหบดี หากมีเวลาพอจะสละได้บ้าง โอกาสที่จะเข้าฝึกหัดอบรมอย่างทหารก็ทำไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นความเข้าใจผิดไปในทางคิดมิชอบต่อแผ่นดิน พระองค์ตระหนักพระทัยแน่ว่า การฝึกหัดอบรมพลเรือนให้มีวิชาทหารนั้นเป็นประโยชน์อย่างเหลือล้นให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้บุคคลที่ได้รับการฝึกฝนเช่นนั้นเป็นพลเมืองที่ดียิ่งขึ้นกล่าวคือทำให้กำลังกาย และกำลังความคิด แก่กล้าในทางที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรมดาของคนเราอย่างหนึ่งซึ่งถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดมาคอยบังคับใช้ให้เกิดกำลังและเกิดกำลังความคิดแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็มักจะกลายเป็นคนอ่อนแอไป
อีกประการหนึ่งการที่บุคคลได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างทหารนั้น เป็นการทำให้คนรู้จักวินัย คือ การฝึกหัดคนให้เป็นผู้ที่เข้าอยู่ในใต้บังคับบัญชาของผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือนายเหนือตน ซึ่งจะนำ ประโยชน์นั้นมาให้แก่ตัวเองเป็นอันมาก เพราะคนเรานั้น ถ้ารู้จักเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาของคนอื่นได้ดี จะเป็นรายที่รู้จักน้ำใจผู้น้อย ทั้งเป็นทางสั่งสอนอย่างหนึ่งให้คนมีความยำเกรงตั้งอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายของบ้านเมือง ทั้งจะปลุกใจคนให้มีความรู้สึกรักพระเจ้าแผ่นดินประเทศชาติและศาสนาของตนได้
   ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือเป็นการเริ่มต้นการส่งเสริมความสามัคคีปรองดอง ต่อกันและกันในหมู่พลเมือง ทั้งนี้ เพราะถ้ามีการร่วมจิตใจกันในหมู่ประชาชนหรือบ้านเมืองใดแล้ว ประชาชนและประเทศนั้นก็จะแข็งแรงมั่นคงเป็นที่ยำเกรงต่อข้าศึกศัตรูทั้งปวง และจะทำการสิ่งใด ก็อาจจะสำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง ก็เมื่อจะให้ประชาชนอยู่ดี ประเทศชาติบ้านเมืองก็ดี มีความสามัคคีพร้อมกันได้นั้น ต้องอาศัยที่มีหัวหน้าเป็นผู้รวบรวมต่าง ๆ และเป็นผู้บัญญัติข้อบังคับแบบแผนต่าง ๆ ขึ้นให้ประพฤติตนและต้องร่วมกันรักษาสัตย์ที่จะยอมประพฤติตามบัญญัตินั้นด้วย กล่าวคือเป็นผู้มีระเบียบวินัย ดังเช่นหลักในพระพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธองค์ทรงวางระเบียบวินัยของพระสงฆ์ไว้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ จึงได้ถาวรรุ่งเรืองอยู่นับเป็นเวลาหลายพันปี ส่วนในทางฆราวาสนั้นเล่า ทหารก็รวบรวมกันได้ เพราะการมียุทธวินัยเป็นหลัก จึงควบคุมให้พรักพร้อมกันอยู่ได้ ฉะนั้น เพื่อจะให้ประชาชนคนไทยทั่ว ๆ ไปที่รวมกันมาจากชุมชนต่าง ๆควบคุมกันอยู่ได้โดยพรักพร้อมมือ ก็ต้องเดินแนวอย่างทหาร คือจัดเป็นวินัยของชุมชนขึ้น เรียกว่า "วินัยเสือป่า" โดยมีพระองค์ท่านรับเป็นองค์ประมุขเสียเอง กิจการจึงดำเนินไปโดยความเรียบร้อย

ความคิดอันนี้พระองค์ทรงพระราชดำริมาแล้วก่อนที่จะก่อตั้งกองเสือป่าขึ้นมาถึง 3 ปี คือตั้งแต่ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช อยู่ ฉะนั้น เมื่อโอกาสมาถึง คือ พระองค์มีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์แล้ว อันเป็นวันหลังจากเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเพียง 6 เดือน กับ 7 วันเท่านั้น พระองค์ก็เริ่มการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นทันที พระองค์ทรงเห็นว่าจะให้ผู้อื่นริเริ่มแทนพระองค์นั้นย่อมทำไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดเป็นความเข้าใจผิดไปว่าเป็นการที่คิดมิชอบต่อแผ่นดินไป ครั้นจะปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปอีก ความจำเป็นแห่งสถานการณ์ของโลกในเวลานั้น บรรดาประเทศมหาอำนาจก็กำลังนิยมการล่าเมืองขึ้นอยู่โดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยนั้นตกอยู่ในระหว่างคีมอันใหญ่ที่กำลังจะบีบให้แฟบลงไปทุกที พระองค์จึงรีบฉวยโอกาสตั้งกองเสือป่าขึ้น แต่ถึงกระนั่นก็ดีความไม่ราบรื่นภายในก็เกิดขึ้นตามมา เพราะมีบุคคลที่ยังไม่ซาบซึ้งในนโยบายอันสุขุมของพระองค์พอ เกิดมีความไม่พอใจโดยเข้าใจผิดไปว่า การที่พระองค์ทรงสนพระทัยในกิจการเสือป่ามากนั้น เป็นเพราะทรงลำเอียงรักแต่สมาชิกเสือป่าที่เป็นพวกพ้องส่วนพระองค์ จนลืมเหล่าทหารหาญซึ่งเป็นหลักสำคัญของประเทศชาติ โดยหาคิดไม่ว่า องค์การเสือป่านั้นเป็นองค์การที่เกิดขึ้นใหม่ จำเป็นจะต้องทำนุบำรุงและดำเนินงานอย่างเต็มสติกำลังด้วย การทรงเสียสละอย่างสูง เพื่อจะให้กิจการนั้นได้รับความนิยมและสำเร็จออกมาอย่างดีสมพระราชประสงค์ ส่วนกิจการทหารนั้น ความจริงได้วางรูปการไว้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว อันความเข้าใจผิดนั้นห้ามกันไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อมีผู้ก่อไฟขึ้น ผลสุดท้ายก็เกิดลุกโพลงขึ้นจริง นั่นคือหลังจากการตั้งกองเสือป่าผ่านพ้นไปได้เพียงเวลา 8 เดือนกับ 27 วันเท่านั้น ก็มีเหตุการณ์ของคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 ขึ้น ซึ่งจะเห็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เนื่องมาจากการตั้งกองเสือป่า เพราะตามหนังสือที่คณะนี้พิมพ์แจกในงานศพของหัวหน้าคณะมีข้อความบ่งชัดว่า "การตั้งกองเสือป่าขึ้น ไม่ใช่กองลูกเสือเป็นกิจการอีกประเภทหนึ่งของประเทศ ที่ตั้งซ้ำกับการทหาร และก็ทำงานแข่งดีกับทหารของชาติ ย่อมทำความมั่นคงของชาติเสื่อมสลายลงเป็นอันมาก" เพราะความไม่เข้าใจในพระบรมราโชบายดังกล่าวนี้ พอตอนเช้า 09.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 นั่นเอง คณะก่อการปฏิวัติคณะแรกของเมืองไทยที่เรียกกันว่า คณะ ร.ศ.130ก็ถูกจับและถูกเปิดเผยว่าเป็นคณะนายทหารหนุ่มของชาติกำลังก่อนการปฏิวัติขึ้นทั้งที่ขณะนั้นพระองค์ท่านก็ยังมิได้เสด็จกลับจากการซ้อมรบเสือป่าที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม แต่ด้วยน้ำพระทัยอันมั่นคงของพระองค์ มิได้ทรงมีพระอารมณ์ไหวหวั่นแต่ประการใด กลับทรงเห็นความสำคัญของชาติเป็นใหญ่ ไม่ทรงถือเอาความพยาบาทอาฆาตเป็นที่ตั้ง
ทรงเห็นว่า เขาเหล่านั้นทำไปเพราะความรักชาติ แต่รักไปในทางที่ผิด เป็นความไม่รู้เท่าทันอุดมคติของพระองค์ท่าน ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการพิจารณาโทษเสนอความเห็นให้ประหารชีวิต ก็กลับพระราชทานอภัยโทษให้เป็นเพียงจำคุกอย่างเดียว โดยมีพระราชประสงค์จะลงโทษให้พอเข็ดหลาบไว้ก่อน เพราะทรงเห็นว่า บุคคลคณะนี้เป็นบุคคลที่มีความรักชาติอย่างแก่กล้า และยอมเสียสละแม้ชีวิต ฉะนั้นต่อไปในข้างหน้าเขาเหล่านั้นก็จะเป็นนักการเมืองที่เป็นกำลังของชาติได้บ้าง จึงมิได้ลงพระราชอาญารุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งเขาเหล่านั้นกลับระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณประดุจตายแล้วเกิดใหม่อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ยิ่งทรงมานะที่จะฟันฝ่าอุปสรรคให้คนทั้งหลายเห็นว่า กิจการเสือป่าจะนำประโยชน์อันแท้จริงมาสู่ประชาชนชาวไทย โดยไม่ทรงหวั่นเกรงเลยว่าจะมีใครปฏิวัติกันอีกเป็นละลอกที่ 2 เพราะทรงถือว่าความจริงย่อมหนีความจริงไปไม่พ้น แม้จะปรากฏว่า ได้เคยมีผู้เข้าใจผิดก็ตามพระองค์ก็มิได้สิ้นความพยายามไปแต่ประการใดเลย ได้ทรงชักจูงให้พลเรือนสมัครเป็นสมาชิกมากยิ่งขึ้นทุกที การเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าจะต้องเสียสละทั้งเวลาและความสุขส่วนตัว และต้องเสียทรัพย์บ้าง พอสมควร ทรงพยายามประกาศความดีและความชั่วของแต่ละคนลงในจดหมายเหตุเสือป่า อันเป็นนิตยสารพิเศษขององค์การเสือป่า ผู้ใดทำความดีอะไรบ้างก็นำลงไว้เรียกว่า จารึกชื่อในแผ่นทอง ผู้ใดประพฤติผิดคิดร้ายก็จารึกลงในแผ่นหนังสุวาน แล้วนิตยสารนี้ก็ออกประกาศความดีความชั่วให้รู้แพร่หลายทั่วกัน อันเป็นวิธีการอันหนึ่งที่ต้อนคนให้กระทำแต่ความดี ในการนี้ต้องสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปเพื่อกิจการเสือป่ามากยิ่งเสียกว่าเพื่อความผาสุกในส่วนพระองค์ ดังเช่นที่ต้องจับจ่ายในการซ้อมรบมากมายสักเพียงใด ก็มิได้เคยเบิกเงินแผ่นดินมาใช้สอยเลย เป็นผลให้กิจการเสือป่าขยายตัวแผ่ไพศาลกว้างขวางออกไปอย่างรวดเร็ว ตามต่างจังหวัดก็พากันตื่นตัวที่จะรีบจัดการตั้งกองเสือป่า เพื่อเป็นกองรักษาดินแดนของตนขึ้น ประโยชน์ที่ได้มากที่สุดก็คือกองเสือป่าที่อยู่ตามชายแดน ซึ่งปกติจะมีแต่กำลังตำรวจที่ไม่เพียงพอ ส่วนกองเสือป่ามีกำลังอาวุธพร้อมอยู่ในมือ มีการฝึกอบรมเยี่ยงทหาร มีเครื่องแบบให้เห็นได้ชัดเจน มีสโมสรตั้งขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุม สโมสรเหล่านี้ยังคงเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ของเสือป่าตามต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง ประโยชน์ที่ได้จากกองเสือป่าในเวลาสงบศึกก็คือ
  • เสือป่าเป็นหน่วยหนึ่งที่เคยช่วยราชการตำรวจอยู่เป็นประจำ เช่น เหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ช่วยกันจับกุมผู้ร้าย สำหรับเหตุใหญ่ ๆ นั้นได้ช่วยทำการปราบปราม เช่น ปราบจลาจลภายในมณฑลภูเก็ตซึ่งเกิดจากคณะอั้งยี่ยกพวกเข้าตีกัน เป็นต้น
  • เป็นแนวทางให้เกิดความสามัคคีขึ้นในระหว่างข้าราชการด้วยกันเอง และระหว่างพ่อค้ากับ ข้าราชการซึ่งตามปกติต่างคนก็ต่างอยู่
  • ได้ช่วยฝึกหัดอบรมให้ประพฤติตนเป็นผู้มีความประพฤติไปในทางที่ดี
  • ทำให้ข้าราชการและประชาชน ที่เข้ามาเป็นสมาชิกแต่งกายสง่างามเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นเกียรติประวัติแก่ชาติและชาวไทย
ในสมัยนั้น การเคลื่อนไหวทางต่างประเทศซึ่งเป็นไปในแนวเดียวกับพระองค์ก็เช่นกัน ทั้งนี้เพราะการตระเตรียมกำลังพลของแต่ละประเทศไว้เต็มที่ ก็เป็นความจำเป็นแม้จะเป็นไปในยามสงบศึก ก็ตาม เพราะการที่จะมีทหารประจำการไว้จำนวนมาก ๆ เช่นนั้น ย่อมกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดินเพื่อกิจการทหาร แต่อีกส่วนหนึ่งได้แก่ ต้องเรียกเอาบุคคลเหล่านี้เข้าเป็นทหารในกองประจำการเสียหมด ฉะนั้นในบางประเทศจึงมีนโยบายที่จะแบ่งพลเมืองไว้ให้ทำประโยชน์ในการกสิกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และข้าราชการซึ่งรับการฝึกหัดอบรมอย่างทหารเตรียมไว้ด้วย โดยที่เวลามีศึกสงครามเกิดขึ้นบุคคลประเภทนี้ก็สามารถจะจับอาวุธเข้าต่อสู้ข้าศึกได้โดยกะทันหัน ประดุจต่อแตนหรือมดแดงที่สามัคคีกันต่อสู้ด้วยความหวงแหนรวงรัง และถิ่นที่อยู่ของมันฉันนั้น เมื่อเช่นนี้จำนวนพลเมืองที่จะต้องเข้าประจำการทหารนั้นก็สามารถลดจำนวนลงได้ จึงเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นใดในยามปกติลงได้เป็นอันมาก อนึ่ง การปกครองพลเรือนก็สามารถที่จะทำการสอดคล้องให้ราบรื่นประสานกันกับทหารได้อย่างดียิ่งด้วยวิธีการฝึกหัดพลเมืองแบบทาง

อ้อมนี้ สมัยนั้นประเทศอังกฤษก็กำลังกระทำอยู่เรียกว่า "Boy Scouts Movement" ส่วนผลในการ ให้พลเมืองเป็นทหารทางอ้อมเช่นนี้มีอย่างไรนั้น ก็จะเห็นได้เมื่ออังกฤษทำสงครามกับพวกบัวส์ นอกจากนั้นประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งกระโน้นก็ทำกันอยู่เช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น การที่ทรงได้รับการศึกษาฝึกฝนมาอย่างพิเศษพร้อมที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์ ประกอบกับประเทศไทยก็มีราชศัตรูกำลังจ้องมองหาโอกาสอยู่รอบด้านประดุจพยัคฆ์ร้ายที่กำลังมันเขี้ยว กำลังคอยที่จะขย้ำอยู่ทุกขณะ และบทเรียนที่เคยเจ็บซ้ำน้ำใจมาจากพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 5 ซึ่งถูกเชือดเฉือนแผ่นใดไปทีละชิ้นมาหลายครั้งหลายหน พระองค์จึงยิ่งทรงมานะในกิจการเสือป่านี้เป็นประการสำคัญยิ่งในสมัยนั้น จนถึงกับทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทสุภาษิตไว้ให้แก่กองเสือป่าว่า

"แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัน ก็อาจสู้ริปูสลาย"

มีสิ่งหนึ่งที่เป็นคำขวัญของเสือป่าในสมัยที่ทุกคนลืมเสียมิได้ เพราะคำขวัญนี้มีจารึกอยู่ในที่ ทั่วไป เช่น ที่ธงประจำกองทั่วทุกเหล่า และที่ใต้แผ่นโลหะรูปหน้าเสือติดหมวกของเสือป่าและลูกเสือว่า

"เสียชีพอย่าเสียสัตย์"

การดำเนินงานจัดตั้งกองเสือป่าและลูกเสือ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เป็นวันที่เริ่มประกาศและชักชวนให้มีการจัดตั้งกองอาสาสมัครเสือป่านั้น เมื่อรวบรวมสมาชิกได้เพียงเล็กน้อยแล้ว ก็ทรงกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นประเดิมก่อน คือ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 อันเป็นเวลาล่วงลับไปเพียง 6 วัน จนกระทั่งเวลาต่อมาอีก 2 เดือน คือวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงได้ประกาศตั้งกองลูกเสือขึ้นอีก โดยที่ทรง พระราชปรารถในการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นไว้ว่า "กองเสือป่าก็ได้ตั้งขึ้นแล้วเป็นหลักฐานพอจะเป็นที่หวังได้ว่าจะเป็นผลดี แต่ผู้ที่เป็นเสือป่านับว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ฝ่ายเด็กนั้นยังอยู่ในปฐมวัย แต่ก็เป็นผู้ที่ควรจะได้รับการฝึกฝนทั้งในส่วนจิตใจและร่างกายโดยเช่นกัน เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่ซึ่งผู้ชาย ทุกคนควรจะประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน" สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงได้แก่ตัวเด็กนั้น ก็คือการหัดเด็กให้มีไหวพริบ อดทน รู้จักช่วยตนเองอย่างง่าย ๆ เช่น รู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากนั้นก็ฝึกหัดอบรมให้เด็กมีใจกว้าง รู้จักการกระทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น ฉะนั้น จึงได้ทรงจัดตั้งกองลูกเสือขึ้น

เมื่อกองเสือป่าและกองลูกเสือได้จัดตั้งขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความจำเป็นอีกประการหนึ่งที่ต้องมีไว้ก็คือ สโมสรอันเป็นสถานที่ทำการฝึกหัดอบรม จึงพระราชทานที่ดินที่เป็นสนามแข่งม้า เดิมให้เป็นที่ชุมนุมเสือป่าและลูกเสือ สนามนี้เดิมตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือของพระบรมรูปทรงม้าอยู่ในลาน พระบรมรูปทรงม้า ด้านทิศใต้จดถนนข้างวัดเบญจมบพิตร ส่วนด้านตะวันออกติดคลองเปรมประชา ส่วนสนามม้านั้นย้ายไปตั้งที่ใหม่ตอนหน้าวัดเบญจมบพิตรที่เป็นสนามราชตฤณามัยอยู่ขณะนี้ พร้อมกันนั้นก็ได้จัดการปลูกอาคารหลังยาวชั้นเดียวหลังคามุงจากเป็นแนวยาว ทางด้านริมถนนวัดเบญจมบพิตร ซึ่งสามารถชุมนุมสมาชิกได้หลายพันคน เมื่อสโมสรทำเสร็จแล้วจึงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จนเวลาล่วงต่อมาถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 ทรงเห็นว่ามีสมาชิกเสือป่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากพอสมควรในเวลานั้น และได้มีโอกาสจัดเป็นหมู่เป็นกองวางระเบียบวินัยเป็นที่ลงรูปงานดีแล้ว จึงให้เสือป่าทั้งหมดไปทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้งหนึ่ง และก็น่าจะเป็นการอัศจรรย์ที่บังเอิญ วัน 25 พฤศจิกายน นั้นก็เป็นวันที่ตรงกับวันสวรรคตของ พระองค์เองใน 14 ปีต่อมา

ประโยชน์ของการลูกเสือ จากการที่องค์พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยได้ไปทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน และได้ทรงพิจารณาเห็นคุณประโยชน์ของกิจการลูกเสือมานับประการ ตลอดจนในระยะสงครามโลกครั้งที่ 1 คณะลูกเสืออังกฤษและฝรั่งเศสได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ และได้ประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากนั้น ทำให้พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและได้ทรงวางพระบรม ราโชบายเพื่อให้เยาวชนของไทยได้สร้างประโยชน์เท่าที่จะสามารถทำได้ไว้ถึง 7 ประการ คือ

1. ช่วยเป็นหูเป็นตาในการส่งข่าวคราวให้บ้านเมืองทราบ
2. ช่วยเป็นคนนำสาร และส่งข่าวให้แก่หน่วยทหารได้
3. ช่วยสะกดรอยติดตามพวกผู้ก่อการร้าย
4. ช่วยระวังรักษา และบอกเหตุถึงการก่อวินาศกรรมของผู้ก่อการร้าย
5. ช่วยลำเลียงเสบียงอาหารให้แก่กองทหาร
6. ช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง ในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤติ
7. ถ้าหากมีคนป่วย เจ็บก็สามารถเป็นผู้ช่วยเหลือพยาบาล ทำบาดแผลและช่วยเหลือ อื่น ๆ ได้

แนวทางต่าง ๆ ข้างต้นที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้ทรงกำหนดไว้ก็เพื่อว่าหวังที่จะพัฒนาเยาวชนให้เป็นลูกเสือที่ดีตลอดจนเป็นการเตรียมลู่ทางให้เป็นทหารที่ดีของชาติเมื่อเวลามาถึงและเพื่อให้เขาเหล่านั้นรักชอบวิชานักรบ (การทหาร) ด้วยความสมัครใจเพราะเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชาย อีกประการหนึ่งคนส่วนมากมักจะมองข้ามความสำคัญของเด็กไปเสีย จึงเป็นโอกาสอันดีที่เด็กอาจจะทำงานดังที่พระองค์ได้ทรงวางแนวทางดังกล่าวได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้เคยพระราชดำรัสไว้ว่า "ลูกเสือคนใดได้ทำหน้าที่ช่วยชาติดังหัวข้อที่กล่าวมาแล้ว จะได้ชื่อว่าท่านได้ทำหน้าที่ ลูกเสือของท่าน สมกับที่เกิดมาเป็นลูกผู้ชายและเกิดมาเป็นคนไทย ท่านจะได้รับความขอบคุณจากวงการลูกเสือ สมควรจะได้รับการจารึกชื่อไว้บนแผ่นทองตามข้อกำหนดของลูกเสือ"



วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติลูกเสือโลก

การลูกเสือเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ พ.ศ.2451  โดยพลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell) หรือ B-P มูลเหตุจูงใจที่ตั้งกองลูกเสือขึ้นมาก็คือ ท่านไปรับราชการทหารโดยไปรักษาเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสหภาพแอฟริกาใต้ ขณะนั้นเกิดสงครามขึ้นกับพวกบัวร์ (Boer)
        ในการผจญศึกใหญ่คราวนั้น ท่านได้ฝึกเด็กขึ้นหน่วยหนึ่่ง เพื่อช่วยราชการสงคราม เช่น เป็นผู้สื่อข่าว สอดแนม รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน รับใช้ในการงานต่างๆ เช่น ทำครัวเป็นต้น ปรากฎว่าได้ผลดีมาก เพราะเด็กที่ได้รับการฝึกเหล่านั้นสามารถปฎิบัติหน้าที่ที่ใช้รับมอบหมายได้อย่างเข้มแข็งว่องไว ได้ผลดีไม่แพ้ผู้ใหญ่และบางอย่างกลับทำได้ดีกว่าผู้ใหญ่เสียอีก
        เมื่อท่านกลับจากราชการสงครามเมืองมาฟฟิคิงแล้ว ท่านได้ร่างโครงการอบรมเด็กขึ้น มีหลักการคล้ายลูกเสือในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ท่านได้ทดลองตั้ง Boy Scout ขึ้นเป็นกองแรกที่ เกาะบราวน์ซี ไอแลนด์ (Brown Sea Island )โดยเกลี้ยกล่อมเด็กที่เที่ยวเตร่อยู่ในที่ต่างๆ มาอบรมแล้วท่านได้คอยคุมการฝึกตามโครงการด้วยตนเอง และได้ผลดีสมความมุ่งหมายทุกประการจึงทำให้เกิดความบันดาลใจ ในอันที่จะขยายกิจการให้กว้างขวางออกไปในวันข้างหน้า
        พอถึงปี พ.ศ. 2455 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศรับรองฐานะของลูกเสืออังกฤษเป็นทางการพร้อมกับออกกฎหมายคุ้มครองให้ด้วย จากนั้นการลูกเสืออังกฤษก็เจริญแพร่หายออกไปเป็นลำดับมา
คติพจน์ที่ท่านลอร์ดบาเดนเพาเวลล์ได้ให้ไว้แก่ลูกเสือก็คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)
         •  หนังสือ Scouting for boys พิมพ์ออกจำหน่ายทั้งหมด 6 เล่มและประเทศต่างๆที่มีกิจการ Scout ก็มักเคยพิมพ์ออกเผยแพร่สำหรับผู้ที่สนใจรวมทั้งประเทศไทยด้วย
         •  ต่อมา พลโท โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น บารอน ซึ่งบรรดาศักดิ์นี้พระราชทานโดยพระเจ้ายอร์จ ที่ 5 ในปี พ.ศ. 2472 ทำให้เขาเป็นสมาชิกสภาขุนนาง ซึ่งตามประเพณีของอังกฤษผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่บารอนขึ้นไป จะต้องมีชื่อสถานที่ต่อท้าย ซึ่งเขาเลือกเอา กิลเวลล์ (Gil Well Park) ที่เป็นชื่อของศนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ ทำให้เขาได้ชื่อตามบรรดาศกดิ์ว่า บารอน เบเดน โพเอลล์ แห่ง กิลเวลล์ แต่คนทั่วไปมักนิยมเรียก ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ในการชุมนุม Scout ครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2463 ที่ประชุมผู้แทน Scout จากประเทศต่างๆ ก็ประกาศให้เขาเป็นประมุขของ Scout ตลอดกาล และทุกคนเรียกท่านอย่างย่อๆว่า B-P